วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553

โครงร่างงานวิจัยในชั้นเรียน


1.  ชื่อปัญหาการวิจัย
           การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  ก่อนและหลังการเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะการเขียน  และการอ่านคำตามมาตราตัวสะกดของนักศึกษา  กศน. ระดับประถมศึกษา  ศรช. นาขมิ้น
2.  ความสำคัญของปัญหา
           นักศึกษา  กศน. ระดับประถมศึกษา  กลุ่ม  ศรช. นาขมิ้น  จำนวน  16  คน  ประกอบไปด้วยราษฎรจากหลายชนเผ่า  อาทิ  ชนเผ่าไทญ้อ  ไทโส้  และไทกะเลิง  ฯลฯ  จากการที่ได้พบกลุ่มจัดกระบวนการเรียนรู้  รายวิชาภาษาไทย  ในภาคเรียนที่  1  ปีการศึกษา  2553  ได้พบว่ามีนักศึกษา  จำนวน  3  คน  มีปัญหาในการเขียน  และอ่านคำไม่ถูกต้องตามมาตราตัวสะกด  ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อการจัดกระบวนการเรียนรู้  นักศึกษาที่มีปัญหาเรียนรู้ได้ช้า  ไม่ทันเพื่อน  การจดบันทึกสะกดคำไม่ถูกต้องนอกจากจะทำให้อ่านไม่ได้แล้วยังทำให้การสื่อความหมายผิดไปด้วย  การอ่านก็เช่นกันหากสะกดคำไม่ได้ก็ไม่สามารถที่จะอ่านได้  การอ่านไม่ได้นอกจากจะไม่รู้ความหมายของคำ  หรือรู้เรื่องราวต่าง ๆ  แล้ว  ยังทำให้การเรียนรู้ไม่รู้เรื่อง  และเข้าใจ  ดังนั้น  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ครูจะต้องแก้ไขปัญหา  เพื่อให้นักศึกษาที่มีปัญหาสามารถ  เขียน  และอ่านคำตามมาตราตัวสะกด  ได้อย่างถูกต้อง  แม่นยำ
3.  วัตถุประสงค์การวิจัย
      3.1  เพื่อสร้างแบบฝึกทักษะการเขียน  และการอ่านคำตามมาตราตัวสะกด  สำหรับนักศึกษา  กศน. ระดับ
             ประถมศึกษา  กลุ่ม  ศรช. นาขมิ้น  ที่มีปัญหาในการเขียน  และอ่านคำตามมาตราตัวสะกด  ไม่ถูกต้อง
      3.2  เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  ก่อนและหลังการเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะการเขียน  และการอ่านคำตามมาตราตัวสะกดของนักศึกษา  กศน. ระดับประถมศึกษา  ศรช. นาขมิ้น
4.  ตัวแปรที่ศึกษา
      4.1  ตัวแปรต้น  คือ  การเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะการเขียน  และการอ่านคำตามมาตราตัวสะกด 
      4.2  ตัวแปรตาม  คือ  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษา  ก่อน  และหลังการเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะการ
             เขียน  และการอ่านคำตามมาตราตัวสะกด
5.  นิยามคำศัพท์เฉพาะ
      =  แบบฝึกทักษะการเขียน  และการอ่านคำตามมาตราตัวสะกด  หมายถึง  แบบที่ใช้ฝึกความสามารถในการเขียน  และการอ่านคำตามมาตราตัวสะกด  ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น  ประกอบด้วย
      =  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษา  หมายถึง  ผลที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนหลังจากที่ได้ใช้ฝึกทักษะการเขียน  และการอ่านคำตามมาตราตัวสะกด
      =  นักศึกษา  หมายถึง  นักศึกษา  กศน. ระดับประถมศึกษา  กลุ่ม  ศรช. นาขมิ้น ที่ลงทะเบียนเรียนวิชาภาษาไทย  ในภาคเรียนที่  1  ปีการศึกษา  2553

6.  ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
        1.  ได้แบบฝึกทักษะการเขียน  และการอ่านคำตามมาตราตัวสะกด
        2.  นักศึกษามีความสามารถในการเขียน  และการอ่านคำตามมาตราตัวสะกดดีขึ้น
        3.  นักศึกษาสามารถเขียน  และอ่านคำในภาษาไทยได้ถูกต้องมากขึ้น
        4.  ได้แนวทางในการพัฒนาทักษะ  ความสามารถในการเขียน  และการอ่านภาษาไทยในเรื่องอื่น ๆ

7.  วิธีดำเนินการวิจัย / วิธีดำเนินการแก้ปัญหา
      7.1  ประชากร / กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา 
             ประชากร  คือ  นักศึกษา  ระดับประถมศึกษา  กลุ่ม  ศรช. นาขมิ้น  ที่ลงทะเบียนเรียน  รายวิชา
                                     ภาษาไทย  ในภาคเรียนที่  1  ปีการศึกษา  2553  จำนวน  16  คน
             กลุ่มตัวอย่าง  คือ  นักศึกษา  กศน. ระดับประถมศึกษา  กลุ่ม  ศรช. นาขมิ้น  ภาคเรียนที่  1  ปีการศึกษา  2553
                                          จำนวน  3  คน  ที่มีปัญหาในการเขียน  และอ่านคำตามมาตราตัวสะกด  ไม่ถูกต้อง
      7.2  เครื่องมือที่ใช้ 
             ก.  เครื่องมือในการแก้ปัญหา / แนวทางแก้ปัญหา
                  -  แบบฝึกทักษะการเขียน  และการอ่านคำตามมาตราตัวสะกด
                  -  แบบสังเกตพฤติกรรมการเขียน  และอ่านคำตามมาตราตัวสะกด
             ข.  เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล
                  -  แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษา  ก่อน  และหลังการใช้แบบฝึกทักษะการเขียน
                     และการอ่านคำตามมาตราตัวสะกด
 
      7.3  วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล 
             ผู้วิจัยเป็นผู้เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง  โดยใช้แบบ  ทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษา  ก่อน  และหลังการใช้แบบฝึกทักษะการเขียน  และอ่านคำตามมาตราตัวสะกด
             เก็บรวบรวมข้อมูลจาก  นักศึกษา  กศน. ระดับประถมศึกษา  กลุ่ม  ศรช. นาขมิ้น  ที่มีปัญหาในการเขียน  และอ่านคำตามมาตราตัวสะกด  ไม่ถูกต้อง  จำนวน  3  คน
      7.4  สถิติที่ใช้และวิธีการวิเคราะห์ข้อมูล 
              -  ค่าเฉลี่ย
              -  ค่าร้อยละ

8.  แผนดำเนินการ
      8.1  วางแผนและเขียนโครงร่าง .......... 3 ..... วัน
      8.2  ปฏิบัติการตามแผน ...................... 5 ..... วัน
      8.3  เก็บข้อมูล ................................... 30 ..... วัน
      8.4  วิเคราะห์ ...................................... 5 ..... วัน
      8.5  สรุปผลและเขียนรายงาน ............. 3 ..... วัน

9.  ชื่อผู้เสนอโครงร่างการวิจัย
                  นายสถาน     สมัญญา  ครูอาสา ฯ  กศน. อำเภอโพนสวรรค์